ในแอปพลิเคชันของกรมควบคุมมลพิษรายงานค่าคุณภาพอากาศ 17 จังหวัดภาคเหนือ แต่เมื่อนับจำนวนสถานีที่เครื่องวัดฝุ่นติดตั้ง ผู้สื่อข่าวสถานีฝุ่นพบว่ามีประมาณ 20 สถานีครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเครื่องวัดฝุ่นมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษส่วนใหญ่แล้วติดตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จึงไม่ครอบคลุมพื้นที่ระดับตำบลและหมู่บ้านที่กระจัดกระจายไปตามภูมิประเทศของภาคเหนือ
.
รายการบ่ายโมงสถานีฝุ่นได้นำเสนอในประเด็นนี้ในหัวข้อ ‘พิกัดฝุ่นที่รัฐไม่รายงาน’ เพื่อนำเสนอความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศของประชาชนภาคเหนือ แต่ปัญหานี้มีทางออกหากหน่วยงานรัฐเปิดใจรับเทคโนโลยีเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก
.

ในโลกของ Dust boy
.
รศ.ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change Data Center : CCDC สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ “ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด” From Output to Impact : ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไทยกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 ว่า แม้ว่าหน้าที่ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษ แต่เทคโนโลยี Low cost sencor ก็มีศักยภาพอย่างมากในการแจ้งข้อมูลแก่ประชาชน ที่สำคัญมีราคาถูก
.
“หน้าที่ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศบ้านเราอยู่ในความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษ ถ้าเป็นเครื่องของกรมควบคุมมลพิษจะต้องอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นตู้ที่ปรับอากาศ ทำให้ต้นทุนของเครื่อง ตุ้นทุนของโลเคชั่น และต้นทุนของการ maintenance ค่อนข้างสูง ปีหนึ่งก็หลายล้านบาท แต่ Low cost sencor หนึ่งยูนิตก็ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ถ้าเอาเงินหนึ่งล้านบาทมาเทียบกับหนึ่งหมื่นบาทก็ประหยัดภาษีของประชาชนได้ค่อนข้างเยอะ เราสามารถที่จะกระจายจุดติดตั้ง Dustboy ได้ครอบคลุมระดับอำเภอ หรือจะตั้งเป้าเป็นระดับตำบลก็เป็นไปได้” รศ.ดร. เศรษฐ์ ระบุ
.
ในฐานะนักวิชาการผู้พัฒนาเครื่องวัดฝุ่น Dustboy เขามองว่า การมี Low cost sencor กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ จะทำให้ภาครัฐทราบข้อมูลในพื้นที่ที่เครื่องวัดฝุ่นมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษเข้าไม่ถึง และแน่นอน ประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อป้องกันตัวเองได้เช่นกัน
.
“เพราะไม่ใช่แค่อำเภอเมืองเท่านั้นที่มีค่าฝุ่นสะสมอยู่สูง แต่รอบนอกที่บางอำเภออาจจะเป็นพื้นที่ของการสะสมฝุ่นอยู่เยอะ และเยอะกว่าในเมืองด้วยซ้ำ ฝุ่นละองขนาดเล็กในช่วงเวลาของวัน 1 วัน อาจจะมีปริมาณไม่เท่ากัน สมัยก่อนเราใช้ข้อมูลอ้างอิงที่เป็นค่าเฉลี่ยราย 1 วันหรือค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์จริง ซึ่งในช่วงเวลาเช้า บ่าย เย็น อาจจะมีค่าฝุ่นที่ไม่เท่ากันเลย เมื่อประชาชนรับทราบข้อมูลของ PM2.5 ในพื้นที่ของเขาแล้ว ข้อดีก็คือเขาสามารถนำไปปรับตัว ใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับค่าฝุ่น” รศ.ดร. เศรษฐ์ กล่าว
.
การแก้ไขปัญหาที่ต้นทางเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะเห็น แต่เรายังอยู่ในระหว่างทางของการเดินทางไปสู่จุดหมายนั้น รศ.ดร. เศรษฐ์ มองว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือเฝ้าระวังสุขภาพของตัวเอง ต้องรู้ข้อมูล รู้ไว รู้ทัน ป้องกันตัวเองให้ได้ แต่ Dustboy ก็เผชิญแรงเสียดทานจากหน่วยงานราชการมาไม่น้อยเช่นกัน
.
“ในวันแรกที่กลุ่มของเราทำวิจัยเรื่องเครื่องมือวัดฝุ่นออกมา เกิดการต่อต้านค่อนข้างเยอะ แต่ต้องบอกว่าข้อมูลที่ออกมาเป็นข้อมูลของภาคประชาชนจริงๆ แต่เราก็สามารถทำให้หน่วยงานรัฐ โดยกรมควบคุมมลพิษได้ประกาศตัว AQI ที่มีการวิเคราะห์เรื่องของ PM2.5 รวมเข้าไปด้วยได้ ทำให้เราสามารถทราบเกณฑ์ของแถบช่วงอันตรายของ PM2.5 ได้ง่ายยิ่งขึ้น ประชาชนก็สามารถป้องกันตัวเองได้ดีขึ้น”
.
หากภาครัฐปรับตัวช้า รศ.ดร. เศรษฐ์ มองว่า รัฐจะถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันที่ปัจจุบันมีให้เลือกใช้มากมาย
.
“ถ้าภาครัฐยังขยับตัวได้ช้าก็อาจจะถูกดิสรัปโดยเทคโนโลยีจากต่างประเทศก็ได้ เราอาจจะได้ยินเครื่องมือของ AirVisual ซึ่งมีประชาชนซื้อมาใช้เยอะขึ้นในประเทศไทย แต่ข้อมูลที่วัด ไปที่ไหนก็ไม่รู้ ติดตั้งยังไงก็ไม่รู้ ข้อมูลก็อาจจะสร้างความไม่แน่นอนให้ภาครัฐก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย”
.
รศ.ดร. เศรษฐ์ กล่าวว่า ทีมวิจัยยังคงพัฒนาระบบของ Dustboy อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตฐานข้อมูลของ Dustboy จะถูกนำไปสู่ระบบบล็อกเชน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเด็นสุขภาพและการออกแบบเมือง
.
“เราเอา Dustboy ไปศึกษาเปรียบเทียบมาตรฐานกับเครื่องของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเราทำมาเกือบ 1 ปีแล้ว ข้อมูลสอดคล้องครับ เปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดน้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าสามารถใช้งานได้อย่างดี ในอนาคตเรามองว่าอาจจะมีหน่วยงานอื่นมาเชื่อมโยงข้อมูลกับ Dustboy มากขึ้น อีกหน่อยข้อมูลทั้งหมดอาจไม่ได้อยู่ในเซิฟเวอร์ อาจจะต้องขึ้นสู่บล็อกเชน เพื่อนำข้อมูลกระจายออกไป และมีการบริหารข้อมูลที่โปร่งใส นำข้อมูลไปใช้เกิดประโยชน์ต่อประชาสังคมมากที่สุด” รศ.ดร. เศรษฐ์ กล่าว

.
โลกที่เป็นหนึ่งเดียว
.
เนื่องจากจุดติดตั้งของเครื่องควบคุมมลพิษมีจำนวนไม่ครอบคลุมพื้นที่ในเชียงใหม่ทั้งหมด ดร. นณธภัทร ธีระวรรธนะสิริ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กรมอนามัย จึงกล่าวว่า “จุดติดตั้งเครื่องมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษจึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของข้อมูลในพื้นที่ได้”
.
“ชุมชนมองว่าข้อมูลของจังหวัดไม่ได้สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นในชุมชน เพราะข้อมูลแสดงย่านสีในพื้นที่เมืองเป็นสีเขียว แต่รอบนอกคุณภาพอากาศแย่มาก ทำให้เขาไม่สามาถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากมลภาวะทางอากาศได้ เราจึงมองว่า Low cost sencor ที่คณะอาจารย์พัฒนาขึ้นน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับพื้นที่รอบนอก ให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูล และปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงได้ เราจึงทำการติดตั้งเครื่องทั้งหมด 25 จุดในเชียงใหม่”
.
นอกจากการติดตั้ง Dustboy ในพื้นที่รอบนอกแล้ว ดร. นณธภัทร กล่าวว่าได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลนครพิงค์ ในการพัฒนาระบเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนรอบนอก
.
“โดยใช้ข้อมูลจาก Dustboy ครับ เพื่อสื่อสารกับประชาชนเฝ้าระวังป้องกันตัวเอง เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ เราเฝ้าดูว่าประชาชนที่ได้รับการแจ้งเตือนจากเรามีผลกระทบด้านสุขภาพมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นเราได้มีการพัฒนาและขยายผลไปยังอำเภออื่นๆ ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 1 เรามีอำเภอ 100 กว่าแห่ง เรามีตำบล 800 กว่าตำบล เราได้ขยายผลติดตั้ง Dustboy โรงพยาบาลอำเภอในแต่ละอำเภอเพื่อแจ้งเตือนสื่อสารกับประชาชนนระดับอำเภอ
.
ในมุมมองของนักวิชาการสาธารณสุข เขามองว่า การติดตั้ง Dustboy ในทุกตำบลในอำเภอทำให้แต่ละตำบลทราบข้อมูลว่าในแต่ละตำบลเคียงข้างตำบลตัวเอง มีสถานการณ์อย่างไร เพื่อประเมินสถานการณ์
.
“เพราะฝุ่นควันมันไม่ใช่ปัญหาของพื้นที่หนึ่งใด มันสามาราถลอยข้ามมาได้ ข้อมูลนี้ก็ทำให้แต่ละพื้นที่ประเมินสถานการณ์ได้ เรามองว่าการแก้ปัญหาฝุ่นต้องอาศัยความร่วมมือการสร้างเครือขช่ายทุกภาคส่วน
.
“เรามีแผนว่าในปี 67-68 จะติดตั้ง Dustboy ทุกตำบล และสร้างเครือข่าย ลดผลกระทบจากฝุ่น ในระหว่างที่เรายังแก้ปัญหาฝุ่นได้ไม่ครบกระบวนการ ความท้าทายคือการยอมรับของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เหมือนพวกเขายังตั้งคำถามกับมาตรฐานของเครื่อง ผมมองว่า แทนที่เราจะมองตรงนี้ เราน่าจะพัฒนาเครื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ว่าเขาสามารถใช้เครื่องนี้ในการเฝ้าระวัง สื่อสารความเสี่ยง แทนที่จะรอให้การติดตั้งเครื่องมาตรฐานครบทุกพื้นที่ ผมมองว่า ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็เอาเทคโนโลยีมาขาย ชุมชนต้องการ” นักวิชาการสาธารณสุข กล่าว
.
พิกัดฝุ่นที่รัฐไม่รายงาน
.
บัณรส บัวคลี่ บรรณาธิการสถานีฝุ่น กล่าวว่า การที่รัฐไม่จัดหาหรือไม่สนับสนุนรวมถึงไม่ยอมรับเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก เป็นความคิดที่ผิดพลาดและได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ในฐานะสื่อมวลชน บรรณาธิการสถานีฝุ่น ระบุว่า รายการสถานีฝุ่นจะรายงานค่าคุณภาพอากาศที่ไม่มีในการรายงานจากรัฐ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายข้อมูลข่าวสารในการป้องกันสุขภาพของประชาชน
.
“เนื่องจากปัจุบันมีเครื่องวัดฝุ่นกระจายไปในหลายพื้นที่ สถานนีฝุ่นแนะนำให้ประชาชนดูข้อมูลจากเครื่องที่ติดตั้งใกล้พื้นที่ที่อาศัยอยู่ และดูให้หลากหลายแหล่ง ทำความเข้าใจค่า AQI และค่ามลพิษที่แยกย่อยเป็นชนิดต่างๆ แล้ววิเคราะห์ข้อมูล ก็จะดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ครับ เมื่อรัฐไม่ดูแลเรา เราก็ต้องช่วยกันดูแลกันเอง” บรรณาธิการสถานีฝุ่นกล่าว
