ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีปัญหาเรื่อง PM2.5 ค่าคุณภาพอากาศประจำวันที่ 15 มีนาคม 2565 บ่งชี้ว่าปอดของคนอีสานกำลังเผชิญกับมลพิษ หมอกควันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะภาคเหนือ แต่เป็นวงจรร่วมของคนทั้งประเทศ และรวมถึงภูมิภาคอาเซียน
.

ในวันที่อีสานไม่เขียว
.
แอปพลิเคชัน Air4Thai แสดงข้อมูลค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือประจำวันที่ 14 มีนาคม 2565 อยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพไปจนถึงมีผลต่อสุขภาพ ผู้สื่อข่าวพบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ราย 24 ชั่วโมงในหลายจังหวัดของอีสานอยู่ในระดับเกินมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด โดยจังหวัดหนองคายมี PM2.5 มากที่สุด 113 มคก./ลบ.ม.
.
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 775 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 226 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 167 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 157 จุด พื้นที่เขตสปก. 110 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 102 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 13 จุด
.
จุดความร้อนเริ่มกระจายตัวหนาแน่นไล่ตั้งแต่ตอนกลางไปจนถึงตอนบนของประเทศ นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบ 426 จุด ส่วนใหญ่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตร คาดว่าน่าจะเกิดจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่
.
ข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 13 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อน 10,949 จุด ตามด้วยภาคเหนือ 9,197 จุด และภาคกลาง 5,634 จุด ตามลำดับ
.
ขณะที่จุดความร้อนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์สูงต่อเนื่องพบ 4,097 จุด รองลงมาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 2,372 จุด และราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 2,090 จุด ตามลำดับ

.
การเผา สายลม และเครื่องวัดค่าฝุ่น 12 สถานี
.
ข้อมูลจากการประชุมสัมนาวิชาการออนไลน์ เรื่อง “มลพิษอากาศในภาคอีสานและศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ” ระบุว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถิติพื้นที่เผาไหม้ (Burnt Scar) ปี 2562 จำนวน 49,938 จุด ปี 2563 จำนวน 40,219 จุด และปี 2564 จำนวน 20,949 จุด
.
ธนาวุธ โนราช นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ระบุว่า เมื่อพิจารณาสถิติพื้นที่เผาไหม้เฉพาะปี 2564 จำแนกตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่าเป็นพื้นที่เกษตร 40 เปอร์เซ็นต์ เขตสปก. 21 เปอร์เซ็นต์ ป่าสงวนแห่งชาติ 14 เปอร์เซ็นต์ ชุมชนและอื่นๆ 12 เปอร์เซ็นต์ ป่าอนุรักษ์ 12 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ริมทางหลวง 1 เปอร์เซ็นต์
.
เมื่อจำแนกตามชนิดแหล่งกำเนิดการเผาไหม้ พบว่า นาข้าว 40 เปอร์เซ็นต์ อ้อย 6 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่เกษตรอื่นๆ 15 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ป่า 25 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ริมทางหลวง 1 เปอร์เซ็นต์ ชุมชนและอื่นๆ 13 เปอร์เซ็นต์
.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ทำนานอกฤดู 1.99 ล้านไร่ ขณะที่จำนวนโรงงานผลิตน้ำตาล 22 กลุ่มโรงงาน บางจังหวัดมี 2-3 โรงงาน การเผาอ้อยจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนตัดขาย เพื่อให้โล่งตัดง่ายได้วันละ 3 ตัน แต่หากไม่เผาตัดได้ 1 ตันต่อวัน และการเผาหลังตัด หากไม่เผาใบเก่าทิ้ง เมื่อต้นเกิดใหม่อาจจะเกิดไฟไหม้และทำให้ตายได้ พื้นที่อ้อยที่เกิดไฟไหม้มากที่สุด คือ โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ 1.52 แสนไร่ รองลงมาโรงงานน้ำตาลครบุรี 1.03 แสนไร่ และโรงงานน้ําตาลเอราวัณ 1 แสนไร่
.
ขณะที่จำนวนสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคอีสานมีเพียง 12 สถานี และมีเพียงสถานีเดียวที่ข้อมูลสมบูรณ์ คือ จ.ขอนแก่น สะท้อนว่าการติดตามคุณภาพอากาศไม่ถูกให้ความสำคัญ
.
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561-2563 ค่า PM2.5 เฉลี่ยรายปีของ จ.ขอนแก่น เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับมากกว่า 30 มคก./ลบ.ม ค่าสูงสุดเกินค่ามาตรฐานชัดเจนช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. และปลาย ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี ที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวเพราะวิถีชีวิตสัมพันธ์กับเกษตร

.
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหา PM2.5 ของภาคอีสานคือสภาพภูมิอากาศและลักษณะภูมิประเทศ ดร.ชัชวาล อัยยาธิติ อาจารย์สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อธิบายในการประชุมสัมนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อเดียวกัน ระบุว่า ภาคอีสานมีเทือกเขากั้นจากภาคอื่น มีแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครที่ลาดเอียงจากตะวันตกไปตะวันออก อากาศทั่วไปร้อนชื้นสลับกับแล้งมีผลต่อความรุนแรงของลม ทั้ง 2 ส่วนจึงมีผลต่อการกระจายตัวของมลพิษทางอากาศ
.
บัณรส บัวคลี่ บรรณาธิการสถานีฝุ่น ได้ตรวจสอบโมเดลการเคลื่อนที่ของลมภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านแอปพลิเคชัน Windy ในวันเดียวกับที่หนองคายมีปริมาณ PM2.5 เกินมาตรฐานไปหลายเท่า พบว่า “ลมของอีสานใต้พัดจากตอนล่างขึ้นไปทางเหนือ แต่พื้นที่อีสานตอนบนลมพัดอีกแบบ ลมวกกลับเข้ามา ลมจากลาวตีกลับเข้ามาฝั่งไทย พฤติกรรมไฟ อากาศ ลม ของภาคอีสาน ต่างจากภาคเหนือ และมีความซับซ้อน ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องศึกษา”
.
ขณะที่จำนวนสถานีวัดค่าฝุ่นที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ประกอบกับการรายงานข้อมูลเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของพื้นที่ภาคอีสานได้