สภาลมหายใจภาคเหนือ “ก้าวสู่ทางออกวิกฤตฝุ่นควัน”

18 มีนาคม 2565 สภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัด ร่วมเสวนา  “2565 สู่ทางออกจากวังวนวิกฤตฝุ่น” การประชุมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ (สภน.) ครั้งที่ 1/2565 ระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาข้อเสนอและสร้างกลไกร่วมกับภาคีเครือข่าย ณ ห้องทิพย์พิมาน โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่

เวทีเสวนา “ก้าวสู่ทางออกจากวังวนวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือ” 

นำเสนอการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือที่ผ่านมาและทางออกจากวังวนปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือ

.

พันตำรวจตรียงยุทธ  สารสมบัติ  สมาชิกวุฒิสภา  นำเสนอผ่านบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ที่มีการขับเคลื่อนในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน โดยสะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปี  พบว่าปัญหาที่สำคัญเกิดจากนโยบายและโครงสร้างโดยเฉพาะกฎหมายมีช่องว่าง   ดังนั้นทางออกในการแก้ไขปัญหาคือการแก้ไขกฎหมาย ให้มีกฎหมายเฉพาะในการจัดการปัญหาฝุ่นควันโดยตรง   จึงได้มีการศึกษาข้อมูลกฎหมาย และทำงานร่วมกับอ.ไพสิฐ  จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหอการค้า ในการยกร่างกฎหมายอากาศสะอาด 


ในส่วนบทบาทของวุฒิสภาคือร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์ ติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดกิจกรรมสว.พบประชาชน รับฟังปัญหาผลกระทบจากไฟป่าฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ cและการแก้ปัญหาการจัดการเรื่องรอยต่อระหว่างพื้นที่จังหวัด-เขต  โดยมีการประสานกับแม่ทัพภาคสามนัดประชุมผู้ว่า 8 จังหวัดภาคเหนือในการแก้ปัญหาการจัดการไฟรอยต่อและการลดฝุ่นควันPM 2.5 และการลดจุดฮอตสปอทภาคเหนือ


    ข้อเสนอทางออก มองว่าต้องมีกระบวนการที่ทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐ เอกชน ประชาชน มีการรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน  รวมถึงการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ฝุ่นจังหวัดภาคเหนือ  ทำให้ชุมชนมีบทบาทในการจัดการและสร้างแรงจูงใจให้กับพื้นที่ในการแก้ไข บริหารจัดการฝุ่นควันโดยชุมชน และมีข้อเสนอให้ทางสภาลมหายใจจัดทำข้อสรุปเพื่อส่งไปยังรัฐบาลและองค์การอนามัยโลก โดยทางสว.รับปากในการนำข้อเสนอจากเวทีส่งต่อให้

.

   รศ.ดร.สมพร  จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   นำเสนอข้อมูลภาพรวมสถานการณ์ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือตอนบน และกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงบทบาทของภาควิชาการในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน
  ด้านสถานการณ์ฝุ่นควันได้ชี้ให้เห็นถึงจุดกำเนิดไฟ  รวมถึงค่าฝุ่นควันในแต่ละจังหวัด ซึ่งพบว่าช่วงที่พื้นที่เกิดไฟป่าฝุ่นควันของภาคเหนือมีความรุนแรงมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม และเกิดมากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ขณะที่ค่ามลพิษ PM2.5 เกิดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม และมากที่สุดบริเวณรอยต่อชายแดนไทยพม่า แม้ว่าจุดความร้อนในพื้นที่หลายจังหวัดลดลง แต่ค่าฝุ่นและมลพิษกลับไม่ได้ลดลง  สะท้อนให้เห็นว่าค่ามลพิษที่เกิดขึ้นแหล่งกำเนิดฝุ่นควันส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ปัญหาฝุ่นควันมาเกิดจากแหล่งกำเนิดหลายแหล่งไม่ได้เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตรหรือในป่าอย่างเดียว แต่มาจากอุตสาหกรรมและกิจกรรมในเมืองด้วย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องมองทั้งระบบเป็นภาพรวม เน้นการแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิดหลักทั้งหมด
  ปัญหาผลกระทบจากมลพิษและฝุ่นควันที่เกิดขึ้นพบว่าส่งผลต่อสุขภาพโดยพบว่ายิ่งฝุ่นละเอียดมากเท่าไหร่ยิ่งส่งผลมากขึ้น ที่ผ่านมามีการพูดถึงผลจาก PM2.5 แต่ยังมีฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าคือ PM1.0 ซึ่งส่งผลกระทบมากกว่าแต่ยังไม่มีการพูดถึงมากนัก ในส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะภาควิชาการมีการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือโดย การจัดทำโครงการและนวัตกรรมเพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน เช่น การทำเครื่องตรวจจับค่าฝุ่นควัน – การบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านระบบไฟดี – นวัตกรรมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5-นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น   , CMU Model  โครงการต้นแบบร่วมกับสภาลมหายใจและจังหวัดเชียงใหม่ ลดการเผาในที่โล่งอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดการเผา ลดปัญหาผลกระทบสุขภาพประชาชน  รวมถึงการทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ ในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาการเผาและสร้างทางเลือกด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น โครงการวนเกษตร , การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นต้น

.

นายชัชวาลย์  ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่  นำเสนอทางออกและแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านประสบการณ์การทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นควันมาจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ การเผาไหม้เป็นการเผาไหม้ทุกชนิด ทั้งจากภาคเกษตร ป่า และในเมือง รวมถึงฝุ่นควันข้ามแดน  ปัญหาฝุ่นควันเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องทำแบบไม่แยกส่วน เน้นทำแบบองค์รวม  ครอบคลุมในทุกมิติ มองช้างทั้งตัวและอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาร่วมกันแบบบูรณาการ
  การออกแบบการแก้ไขปัญหาใหม่เน้นแก้แบบเฉพาะหน้าเป็นแบบยั่งยืน ให้พื้นที่เป็นตัวตั้งชุมชนเป็นแกนหลักท้องถิ่นเป็นแกนประสานวิชาการ/ธุรกิจ/รัฐสนับสนุน Zero burning เป็นFire management พรบ.อากาศสะอาด แผนเชิงรุกประเทศเพื่อนบ้าน และมีการทำงานในสามระดับ(พื้นที่)คือพื้นที่รูปธรรม พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่นโยบาย เช่น นโยบายพลังงานสะอาด , นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว นโยบายการจัดที่ดินทำกินที่มั่นคง/สิทธิชุมชนจัดการป่า , การกระจายอำนาจ และกฎหมายอากาศสะอาด 

ข้อเสนอทางออกจัดระบบทรัพยากรธรรมชาติใหม่/เป็นธรรม/สมดุลยั่งยืน เศรษฐกิจสีเขียว หมุนเวียน พึ่งตนเอง และการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด 

.

เวทีเสวนา บทบาทภาคการเมืองกับทางออกวังวนวิกฤตฝุ่นควัน

.

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์   มองว่าการแก้ไขปัญหาสามารถทำได้โดยการผลักดันให้ปัญหาหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงบรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและถูกนำไปผลักดันต่อ ซึ่งในส่วนของตนเองพร้อมสนับสนุนพรบ.อากาศสะอาด และช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความเข้าใจในเรื่องปัญหาผลกระทบที่เกิดจากฝุ่นควันมลพิษทางอากาศ   

.

นายจักรพล  ตั้งสุทธิธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย  กล่าวในสส.จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทย ซึ่งเห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตฝุ่นควันที่เกิดต่อสุขภาพและผลกระทบด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ จึงพยายามนำเสนอปัญหาดังกล่าวในที่ประชุมของคณะกรรมธิการและที่ประชุมของพรรคเพื่อไทย และนำไปสู่การผลักดันและนำเสนอร่างพรบ.อากาศสะอาดของพรรคเพื่อไทยเข้าสู่การพิจารณา (แต่ถูกตีตกไปเพราะมองว่าเป็นกฏหมายด้านการเงิน)  ข้อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหามองว่านอกจากความพยายามในการผลักดันกฏหมายอากาศสะอาดต่อโดยการขยายผลหาแนวร่วมสนับสนุนจากสาธารณะผ่านสื่อโซเซียล เพื่อให้ได้พรบ.อากาศสะอาดแล้ว  ในการแก้ไขการปลูกการเผา การเก็บเกี่ยว ควรมีกองทุนชดเชยให้ และมีการเจราจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการเจรจากับกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศต่อรองในเรื่องระบบ PPP และการทำกรีนคาร์บอน 

.


นายมานพ  ศรีภูวดล  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล  มองว่าพื้นที่กรรมาธิการเป็นพื้นที่กลางที่ดีที่สุดในการนำแก้ไขปัญหาในหลายเรื่อง เช่นเดียวกับเรื่องปัญหาไฟป่าฝุ่นควันที่มีการนำเสนอในที่ประชุมของกรรมาธิการหลายวาระ ปัญหาไฟป่าฝุ่นควันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ขาดงบประมาณหรือองค์ความรู้ในการจัดการ แต่ปัญหาเกิดจากระบบการบริหารจัดการที่มีลักษณะแยกส่วนยังเป็นแท่ง ๆ แยกทำรับผิดชอบในพื้นที่ทั้ง ๆ ที่เวลาเกิดไฟไม่ได้แยกขอบเขต ปัญหาไฟรอยต่อจึงไม่สามารถจัดการได้ ขณะเดียวกันการจัดการและนโยบายแผนงานต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งเมื่อมีผู้บริหารใหม่เข้ามา
ดังนั้นข้อเสนอทางออกคือการให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ และควรถ่ายโอนอำนาจในการบริหารจัดการให้กับท้องถิ่นการมีเครื่องมือให้พื้นที่ในการใช้งาน  กฎหมายที่สร้างให้ทุกฝ่ายมาเจอกัน – สร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาค – ยกระดับการพูดคุยเรื่องฝุ่นควันในอาเซียน สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

.

นางสาวภาดาท์ วรกานนท์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ  มองว่าปัญหาร่างพรบ.อากาศสะอาดที่เสนอจากภาคประชาชนและพรรคต่าง ๆ ถูกตีตกไป เพราะถูกมองว่าเป็นกฎหมายด้านการเงิน  ซึ่งในส่วนตัวมีความพยายามในการสะท้อนปัญหากับนายก และรัฐมนตรีวราวุฒิ ในการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวและผลักดันให้รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำกฏหมายประคู่เข้าไป   

.

นายพงศ์พรหม ยามะรัต  ตัวแทนพรรคสร้างอนาคตไทย มองว่าพรบ.อากาศสะอาดคือทางออกในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือการทำงานยังแยกส่วน เป็นวาระร่วมของพรรคการเมืองทุกพรรคร่วมกันสนับสนุน โดยนักการเมืองรุ่นใหม่ต้องจับมือกันในการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ร่วมใจกันยกร่างฉบับนี้ ทำให้นักการเมืองระดับสูงเข้าใจ ไม่มองว่าพรบ.อากาศสะอาดเป็นอุปสรรคแต่เป็นทางออกในการจัดการปัญหาและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

.


รศ.ดร.คนึงนิจ  ศรีบัวเอี่ยม  เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย กลุ่ม CAN มีการผลักดันร่างพรบ.อากาศสะอาด ฉบับประชาชน ทั้งนี้มองว่าวังวนของปัญหาฝุ่นควันมาจากโครงสร้างกลไกและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่เป็นข้อจำกัดต่อการแก้ไขปัญหา ทางออกคือการการสร้างการมีส่วนร่วม  การสร้างพลเมืองตื่นรู้  และการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่  สร้างให้เกิดการเมืองสีเขียว นำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาโดยชูประเด็นสิ่งแวดล้อมให้เป็นประเด็นสาธารณะเป็นประเด็นร่วมของทุกคนทำร่วมกันโดยไม่แยกฝ่าย  และมีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความสัมพันธ์เครือข่ายประชาสังคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน และสิ่งที่สำคัญคือให้มีการกำหนดขอบเขตกฎหมายสะอาดที่มีความชัดเจนและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน 

.

นายอรรถพล  เจริญชันษา  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  กล่าวในเรื่องร่างพรบ.อากาศสะอาด ทางกรมให้การสนับสนุนและเห็นความสำคัญ และทางกรมกำลังมีการเตรียมกระบวนการให้ความเห็นและการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม นำเนื้อหาสาระจากพรบ.อากาศสะอาด บรรจุไว้ในส่วนหนึ่งของกฎหมาย  ในขณะเดียวกันเน้นการประชาสัมพันธ์ ทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ทำให้เกิดการจัดระเบียบการเผา มีการแจ้งก่อนล่วงหน้ากับจังหวัด รวมถึงมีศูนย์พยากรณ์ล่วงหน้าเจ็ดวันเพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวในจัดการไฟและขยายสถานีเซนเซอร์ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


บรรยายพิเศษบทบาทของหน่วยงานในการสนับสนุนการออกจากวังวนปัญหาวิกฤตฝุ่นควัน 

.

ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) มองว่าปัญหามลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชาชน การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดกฎหมายพรบ.อากาศสะอาด เพื่อเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ในส่วนของสสส..ให้การสนับสนุนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่รูปธรรม และการขับเคลื่อนงานของสภาลมหายใจภาคเหนือ รวมถึงสนับสนุนกลไกป้องกันมลภาวะทางอากาศและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจ และนวัตกรรมอากาศสะอาด รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นชุดความรู้ในการขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ต่าง ๆ

.


นายพิทยา  ปราโมทย์วรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมมลพิษเห็นด้วยในหลักการของกฎหมายของสส.ธาดา และของอาจารย์คนึงนิจ ในขณะเดียวกันกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กำลังมีการแก้ไขพรบ.สิ่งแวดล้อม โดยเอาเนื้อหาในพรบ,อากาศสะอาดบรรจุไว้ในพรบ.สิ่งแวดล้อม  ยืนยันว่ากฎหมายผ่านแน่นอน  

.

รับชมย้อนหลังได้ที่เพจสถานีฝุ่น และ WEVOสื่ออาสา

.

ดาวน์โหลดเอกสาร/ภาพประกอบ

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →