ฝนของเมือง ไฟในไร่ ฝุ่นของทุกคน

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา พายุดีเปรสชันได้ทำให้ฝนตกลงมาในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ฝนตกทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาด PM2.5 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีในหลายพื้นที่ ฝนที่ตกลงมาเป็นเหมือนของขวัญในฤดูฝุ่นเช่นนี้ แต่ฝนเดียวกันนี้ก็เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการไฟและระบบการผลิตในพื้นที่การเกษตรบนที่สูง

.

โดยปกติแล้ว เกษตรกรในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จะบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลังการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกไร่หมุนเวียนในฤดูการผลิตใหม่ในเดือนเมษายน

.

“โดยปกติแล้ว ในช่วงเวลานี้ชาวบ้านอมก๋อยจะต้องเผาไร่เพื่อเตรียมเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตใหม่” นิรันดร์ น้ำภูดิน กล่าวในรายการบ่ายโมงสถานีฝุ่น

. 

แต่ในช่วงนี้กลับมีฝนมากกว่าปกติ ก็ทำให้พี่น้องของเราได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยปกติแล้วประมาณวันที่ 10 มีนาคมเป็นต้นไป พี่น้องจะเริ่มเผากันแล้วครับ ตอนนี้เรากำลังดูสถานการณ์อีกสัก 3-4 วันครับ ว่าดินจะแห้งมั้ย ถ้ามันพอจะเผาได้ก็ต้องเผาครับ เพราะในเดือนเมษายน พี่น้องของเราต้องเริ่มหว่านเมล็ดแล้ว ต้องเริ่มปลูกแล้ว มันจะไม่ทัน”

ที่มา FB นิรันดร์ น้ำภูดิน

.

การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในจังหวัดเชียงใหม่ถูกจัดระบบโดยให้ชาวบ้านหรือชุมชนลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิงในแอปพลิเคชัน FireD แต่ฝนที่ไม่คาดคิดนี้ก็ทำให้ระบบการจัดการเชื้อเพลิงรวน

.

“เรื่องนี้เกี่ยวพันไปถึงระบบการจัดการเชื้อเพลิงของชุมชน ถ้าถึงคิวที่ชาวบ้านได้ลงทะเบียนไว้ แต่บังเอิญว่ามีฝนมาก ก็ต้องเลื่อนการเผาออกไป เพราะถ้าฝนมากมันไม่สามารถเผาให้เกิดการไหม้สมบูรณ์แบบครับ” นิรันดร์ กล่าว

แอปพลิเคชัน FireD (ไฟดี) คือ ระบบจัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชน เพื่อดำเนินการตัดสินใจเวลาเหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด 25 อำเภอ ซึ่งชุมชนทุกพื้นที่ที่ยื่นคำร้องมีความจำเป็นที่ต้องใช้ไฟ จ.เชียงใหม่ สามารถพยากรณ์อากาศข้างหน้า 3-5 วัน ด้วย ปัจจัยการระบายอากาศ อากาศยกตัวขึ้น การจัดการเชื้อเพลิงเผาในพื้นที่โล่งควัน PM2.5 แต่ฟ้าฝนบางครั้งก็ยากที่จะหยั่งถึง และธรรมชาติเปลี่ยนแปลงเสมอ 

.

“ในกรณีที่ไม่สามารถเผาได้ เรายังไม่เห็นการแก้ไขในระดับนโยบาย ตอนนี้พื้นที่ที่เราไม่สามารถเผาได้ค้างในระบบ FireD ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวานผมเดินทางไปที่แม่ตื่น ซึ่งถึงคิวที่หมู่บ้านต้องเผาพอดี แต่เมื่อสองสามวันก่อนฝนตกลงมา ชาวบ้านก็ต้องเผา พอเผามันก็ทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ผลที่ตามมาก็คือ จะเหลือวัชพืชเต็มไร่ไปหมด ซึ่งชาวบ้านต้องจัดการต่อซ้ำซ้อน และมีต้นทุนเพิ่ม การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ยังก่อมลพิษตามมาอีกด้วย” นิรันดร์ กล่าว

.

ความชื้นที่สะสมในดินและใบไม้จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดวัชพืชหลงเหลือหลังจากการกำจัด จึงต้องมีต้นทุนในการกำจัดวัชพืชตามมา ความชื้นจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคเพียงแต่การบริหารเชื้อเพลิงในระบบเท่านั้น หากหมายถึงผลผลิตของฤดูการผลิตนั้นด้วย

ที่มา FB นิรันดร์ น้ำภูดิน

.

“ถ้าการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์มันก็จะทำให้มีฝุ่นเยอะ ถ้าเจอฝน มีความชื้นอยู่ในดินในใบไม้ ก็ทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์” นิรันดร์ กล่าว “วิถีของพี่น้องอมก๋อย เวลาที่เราถางไร่เราจะรอเวลาประมาณ 1 เดือนให้เศษวัชพืชแห้งทั้งหมด พอมันแห้งเราก็มีการบริหารจัดการไฟ ก็ใช้เวลาไม่นาน ประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็เรียบร้อย แต่เวลาที่มันมีความชื้นแบบนี้ เมื่อเผาแล้วการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ควันก็จะส่งผลกระทบไปทั้งวันเลยด้วยซ้ำ”

พื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีการทำไร่หมุนเวียนมากที่สุดในประเทศไทย  ไร่หมุนเวียน คือระบบการผลิตพื้นบ้านของคนกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่บนที่สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ โดยประยุกต์จากกระบวนการของนิเวศป่าเขตร้อนชื้นด้วยการทำการผลิตในระยะสั้นและปล่อยพักฟื้นระยะยาวจนผืนดินคืนความสมบูรณ์แล้วจึงวนกลับมาทำที่เดิม

.

งานวิจัย ระบุว่า ‘ไร่เหล่า’ หรือ ‘ไร่พักฟื้น’ จะมีความหลากหลายของพันธุ์พืช พบต้นไม้ 242 ชนิด มีลูกไม้ 345 ชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดี และเป็นที่หลบภัยของสัตว์ป่า

.

ที่มา FB นิรันดร์ น้ำภูดิน

ดร.กฤษฎา บุญชัย ระบุในงานวิจัย ไร่หมุนเวียน สิทธิทางวัฒนธรรมเพื่อความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม ว่า วงจรการผลิตที่ใช้พื้นที่ระยะสั้นและพักฟื้นพื้นที่ระยะยาวจึงเป็นการจำลองวัฎจักรระบบนิเวศเขตร้อนชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตในไร่หมุนเวียนจึงขึ้นอยู่กับความมั่นคง สมดุลของระบบนิเวศ เช่น ดิน พืชปกคลุมดิน ไฟป่า ความชุ่มชื้น น้ำ ความหลากหลายของพืชพรรณ สัตว์ป่า ภูมิอากาศ ฯลฯ และการหมุนเวียนธาตุอาหารตามธรรมชาติ การจำลองนิเวศในระบบไร่หมุนเวียนดำเนินการหลายรูปแบบ เช่น การเลือกพื้นที่ที่มีนิเวศไม่เปราะบาง การเลือกพื้นที่ไร่ซากที่มีอายุพอเหมาะกับระยะที่ผืนดินและต้นไม้สะสมธาตุอาหารได้อย่างพอดี

.

“การเผาไร่จึงเป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารจากพืชสู่ดิน การไม่ตัดฟันให้เตียน ก็เพราะต้องอาศัยระบบสังคมพืชที่หลากหลายช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่เพียงระบบการผลิตของคนกะเหรี่ยง แต่ยังเป็นระบบนิเวศประดิษฐ์หน่วยย่อยภายใต้นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ (Ecological Landscape) ใหญ่ที่มีทั้งภูเขา ที่สูง หุบเขา ต้นน้ำ ป่าทึบ ป่าผสมผลัดใบ ทุ่งหญ้า ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ” งานวิจัยระบุ

.

“ในช่วงที่มีฝนมากเช่นนี้ ผมยินดีกับคนทุกคนครับ เพราะจะทำให้ปัญหามลภาวะทางอากาศบรรเทาเบาลง แต่ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้ไฟ ชาวบ้านไม่มีทางเลือกอื่นบนพื้นที่สูง พวกเขาต้องทำไร่หมุนเวียน” นิรันดร์กล่าว

.

นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้กันและกัน ผ่านปัญหาฝุ่น ไฟป่า และตัวแปรอื่น ในกรณีนี้ก็คือสายฝน 

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →