นายพฤ โอโดเชา แกนนำเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ในรายการ บ่ายโมงสถานีฝุ่น ประจำวันนี้ (4 เมษายน 2565) ถึงกรณีที่เขาได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องชาวสะเมิงได้รับความเดือดร้อนจากการที่ภาครัฐสั่งปิดป่าและสั่งห้ามทำการชิงเผาในพื้นที่ว่า ชุมชนกะเหรี่ยงใน ต.สะเมิงใต้กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการที่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าผลัดใบ ส่งผลให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เดินทางมาในพื้นที่และสั่งให้ปิดป่า รวมทั้งให้เฝ้าระวังไม่ให้เกิดฝุ่นควัน หากยังมีไฟเกิดขึ้นจะมีการดำเนินคดี ขณะเดียวกันพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านที่มีการแจ้งขอบริหารจัดการเชื้อเพลิง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถลงมือทำได้เมื่อใด
.

.
นายพฤกล่าวต่อไปว่า ทั้งสองเรื่องส่งผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากในเขตป่าชุมชนไม่มีไฟเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับต้องรับผลจากการเกิดไฟป่าไปด้วย เพราะทางราชการสั่งไม่ให้มีการเผา เหมือนไฟดีที่มีความจำเป็นต้องมารอให้ไฟไม่ดีจบลงก่อน ส่วนกรณีการขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับอนุญาต ซึ่งจากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็ยังไม่มีข้อมูลว่าจะสามารถลงมือเผาได้เมื่อใด ทำให้ชาวบ้านกังวลใจมาก เพราะถึงฤดูกาลที่จะต้องเตรียมพื้นที่แล้ว เมล็ดพันธ์ุต่างๆ ก็เริ่มงอกแล้ว แต่ปรากฎว่ายังไม่สามารถเตรียมพื้นที่ได้
.

.

.
แกนนำเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านในพื้นที่อยากได้ความชัดเจนว่าทางราชการจะอนุญาตให้ทำการเผาได้เมื่อใด เพราะการเตรียมพื้นที่จำเป็นต้องใช้ไฟ รวมทั้งอยากให้จังหวัดยกเว้นไม่ต้องปิดป่าและห้ามเผา โดยชาวบ้านจะมีการบริหารจัดการการเผาตามภูมิปัญญาดั้งเดิม พร้อมทั้งช่วยกันดูแลไม่ให้ไฟลุกลามกลายเป็นไฟป่า เนื่องจากตอนนี้ชาวบ้านไม่กล้าทำอะไร นอกจากจะห่วงเรื่องฝนที่ทำให้การเผาล่าช้าออกไปแล้ว ยังกลัวว่าหากเผาจะถูกทางการดำเนินคดีด้วย แต่ถ้าไม่รีบบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ทำกิน ก็จะไม่ทันฤดูกาลเพาะปลูกด้วยเช่นกัน
.

.
ขณะที่นายอิสระ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ของนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และคณะ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการใช้แนวทางการปิดป่า และการขอความร่วมมืองดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่
.
อย่างไรก็ตาม การปิดป่าเป็นเพียงข้อเสนอที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมเท่านั้น ยังไม่ได้มีการประกาศออกมาแต่อย่างใด โดยอำนาจการตัดสินใจว่าจะต้องประกาศปิดป่าในพื้นที่เป็นของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากที่มีฝนตกต่อเนื่องในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
.
ส่วนกรณีการของดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ เป็นไปตามระบบของแอปพลิเคชัน FireD เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่า PM2.5 ในพื้นที่อำเภอสะเมิงตัวเลขค่อนข้างสูงติดต่อกันหลายวัน จึงมีการขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้งดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นเวลา 3 วัน เมื่อครบกำหนดและสถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็สามารถทำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามที่ขออนุญาตและได้รับการอนุญาตในระบบได้ตามปกติ ยืนยันว่ายังไม่มีการสั่งปิดป่าและสั่งห้ามเผาอย่างที่มีข่าวออกไป โดยทางจังหวัดได้ชี้แจงกับชาวอำเภอสะเมิงในการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว ส่วนการโพสต์ข้อความว่ามีการสั่งปิดป่าและสั่งห้ามเผา คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกัน
.

.
นายณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอสะเมิง กล่าวถึงการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านระบบแอปพลิเคชัน FireD ในพื้นที่ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าคุณภาพอากกาศในพื้นที่สูงกว่า 90 ทำให้ระบบสั่งงดการอนุมัติคำขอบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบโดยอัตโนมัติ เป็นเวลา 3 วัน หลังจากครบกำหนดแล้ว ก็สามารถทำการอนุมัติให้ประชาชนดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาทางอำเภอก็อนุมัติคำขอที่เห็นว่าสามารถดำเนินการได้มาโดยตลอด ไม่ได้มีการสั่งห้ามอย่างที่มีข่าวออกมาแต่อย่างใด ส่วนการปิดป่า หากมีการประกาศจริง ประชาชนก็ยังสามารถเข้าป่าได้ เพียงแต่ต้องมีการลงทะเบียนแจ้งว่าจะเข้าไปทำอะไรในพื้นที่ก่อนเท่านั้น
.
ด้านนายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เปิดเผยว่า กรณีการปิดป่าสะเมิงอยู่ระหว่างการประมวลผลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าอีก 1 – 2 วันจะมีความชัดเจนว่าจำเป็นจะต้องใช้มาตรการนี้หรือไม่ เนื่องจากการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเหมือนการป้องปรามและกระชับพื้นที่ แต่ถ้าประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือดี และสถานการณ์มีแนวโน้มไปในทิศางที่ดีขึ้นก็ไม่มีความจำเป็น
.
ส่วนหากมีการปิดป่า ไม่ได้หมายความว่าห้ามเข้าไปในพื้นที่ป่าเลย ประชาชนยังสามารถเข้าไปได้ แต่ต้องแจ้งกับกำนันหรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่ามีวัตถุประสงค์อะไรเพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ และเพื่อให้มีข้อมูลตรวจสอบได้ว่าใครเข้าป่าไปทำอะไรในช่วงเวลาไหน เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อเข้าออกโดยไม่มีหลักฐาน พอเกิดไฟป่าขึ้นก็ไม่สามารถติดตามได้ว่าใครเป็นคนลงมือทำ

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ