องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เปิดเผยว่า 99% ของประชากรบนโลก กำลังหายใจเอาอากาศที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเข้าสู่ร่างกาย ตามรายงานจากฐานข้อมูลคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
.

.
โดยฐานข้อมูลดังกล่าวซึ่งมีการปรับปรุงล่าสุดในปีนี้ หลังจากที่มีการเผยแพร่ครั้งล่าสุดในปี 2561 และนำมาเผยแพร่ก่อนที่จะถึงวันที่ 7 เมษายนซึ่งเป็นวันอนามัยโลกระบุว่า แม้ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะให้ความสำคัญต่อปัญหาคุณภาพอากาศมากขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่ามีมากกว่า 6,000 เมืองจาก 117 ประเทศทั่วโลกที่มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ แต่ประชากรโลกเกือบทั้งหมดก็ยังคงสูดอากาศที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
.
การปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุดในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกเก็บข้อมูลปริมาณของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ นอกเหนือจากเดิมที่มีการเก็บข้อมูลของ PM10 และ PM2.5 ขณะที่ข้อมูลที่ได้ชี้ให้เห็นว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพอากาศ และถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่โลกจะต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานสะอาดอื่น เพื่อทดแทนการใช้เชิ้อเพลิงฟสซิล
.

.
นอกจากนี้ข้อมูลยังแสดงเห็นว่า ประเทศกลุ่มที่มีรายได้ขนาดกลางและต่ำ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพอากาศมากกว่าประเทศลุ่มที่มีรายได้สูง โดยข้อมูลจาก 117 ประเทศทั่วโลกพบว่า 17% ของประเทศที่มีรายได้สูงมีคุณภาพอากาศต่ำกว่ามาตรฐานขอองค์การอนามัยโลก ขณะที่ในกลุ่มประเทศรายได้ขนาดกลางและต่ำ มีไม่ถึง 1% ที่มีคุณภาพอากาศสอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว
.
ดร.มาเรีย เนย์รา ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก กับการที่ผู้คนพยายามเอาชีวิตรอดจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 แต่กลับต้องเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 7 ล้านคน ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ และยังไม่รวมถึงคนอีกนับไม่ถ้วนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
.
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines : AQGs) ฉบับใหม่ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 ซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์ครั้งแรกในรอบ16 ปี นับตั้งแต่ปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 โดยปรับค่ามาตรฐานของ PM 2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยให้สูงขึ้น กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 จะต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ