ทีมข่าว WEVOสื่ออาสา
ในที่สุดประเทศไทยก็ประกาศใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาด pm2.5 ฉบับใหม่อย่างเป็นทางการ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา มาตรฐานใหม่ที่ว่า กำหนดให้เริ่มใช้ค่ามาตรฐาน pm2.5 เฉลี่ย 24ชั่วโมง (เดิม 50 มคก./ลบ.ม.) เป็นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 และให้ใช้ค่ามาตรฐาน pm2.5 เฉลี่ยรายปี (เดิม 25มคก/ลบ.ม. )เป็นไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


.
ซึ่งเอาเข้าจริงมาตรฐานใหม่จะใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงจังเอาเมื่อกลางปีหน้า เพราะค่าเฉลี่ยรายปีแทบไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติ !
.
และก็ยังหมายถึงว่าในฤดูฝุ่นควัน ซึ่งกทม./ภาคกลางจะเริ่มราวๆ ตุลาคม-ธันวาคม ภาคเหนือ/อีสาน ราวๆ ฤดูแล้งของปี 2566 รัฐจะยังใช้ค่ามาตรฐานแบบเดิมในการรายงานผล และวัดเป็นดัชนีความก้าวหน้าของงาน หรือ KPI เช่นที่เคยทำกันมา ทั้งนี้ KPI ของภาครัฐตามที่ระบุในแผนมาตรการวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละออง มี 3 ด้านหลักคือ จำนวนจุดความร้อนหรือฮอตสปอตลดลง จำนวนวันที่ค่าอากาศเกินมาตรฐานลดลง และจำนวนผู้ป่วยทางเดินหายใจลดลง
.
แม้จะยังไม่มีผลใช้งานจริงในทางปฏิบัติสำหรับฤดูฝุ่นควันหน้า แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังดีกว่ารัฐไม่มีเป้าหมายที่จะขยับเพดานมาตรฐานฝุ่นละออง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ทุกภาคส่วนรับรู้ร่วมกันว่ามาตรฐานแบบเก่ากำลังจะถูกยกเลิก และเตรียมตัวสำหรับการใช้มาตรฐานใหม่
.
ซึ่งก็แน่นอนว่าในฤดูฝุ่นควันปีหน้าโน้น หากไม่มีการขยับแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงจังอย่างเร่งด่วน แนวโน้มสูงจะเกิดมีภาวะมลพิษอากาศ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจะเกินมาตรฐานมากขึ้นจากมาตรฐานใหม่ เป็นความเหนื่อยยากของเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ปฎิบัติอยู่ไม่น้อย
.
ย้อนไปดูท่าทีของรัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องพบว่า รัฐไม่ได้มีท่าทีกระตือรือร้นจะขยับเพดานมาตรฐานคุณภาพอากาศและฝุ่นละออง ขนาดเคยมีการประชุมยกร่างและรับฟังความคิดเห็นจะยกมาตรฐาน pm2.5 เมื่อต้นปี 2564 แต่ที่สุดก็ไม่ประกาศใช้ จนทำให้ประชาชนและองค์กรสิ่งแวดล้อม นำโดย กรีนพีซประเทศไทย ฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศค่ามาตรฐานฝุ่นละอองใหม่ให้เข้มงวดขึ้น เป็นแรงกดดันให้รัฐต้องประกาศค่ามาตรฐานฝุ่นละอองใหม่ในครานี้
.
มีความพยายามอธิบายถึงสาเหตุการล่าช้ารีรอไม่ประกาศค่ามาตรฐานฝุ่นละอองใหม่ออกมาสักทีทั้งๆ ที่กำหนดในวาระแห่งชาติและมีการประชุมระดมความเห็นจากประชาชนมาแล้ว โดยอ้างว่า มันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรหากประกาศแล้วเกิดรายงานผลอากาศสีแดงทั่วไปหมดทั้งประเทศ เกิดความตื่นตระหนก การปรับค่าอากาศ ต้องทำไปพร้อมๆ กับการยกระดับการแก้ปัญหาด้วยชุดมาตรการเสียก่อน
.
มองในแง่ดี..ในระหว่างปี 2565-2566 รัฐจะต้องเร่งมือแก้ปัญหาที่สาเหตุต้นตอยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เมื่อถึงเวลาที่ใช้ค่ามาตรฐานอากาศใหม่ จะเกิดภาวะสีแดง เป็นมลพิษอยู่ทั่วไป อันจะสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐไปพร้อมกันด้วย
.
การประกาศใช้มาตรฐานใหม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในมิติของการกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัว และ กระตุ้นให้ราชการเร่งรัดการแก้ปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ในมิติของการคุ้มครองป้องกันสุขภาพประชาชนกลับยังไม่มีผลนัก เพราะ องค์ประกอบของการป้องกันสุขภาพประชาชนให้ครอบคลุมก็คือเครื่องวัดคุณภาพที่ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชาชนส่วนใหญ่
.
ปัจจุบัน เครื่องวัดคุณภาพอากาศมาตรฐานของรัฐมีจำนวนน้อย บางจังหวัดมีแค่เครื่องเดียวและอยู่ในตัวเมืองที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ไม่ได้สะท้อนค่าคุณภาพอากาศที่เป็นจริงของอำเภออื่นนอกออกไป และรัฐก็ใช้ค่าดังกล่าวในการอ้างอิงเป็น KPI ของจังหวัด แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องเซนเซอร์ขนาดเล็ก หรือ low cost sensors ติดตั้งครอบคลุมอำเภอ-ตำบลมากขึ้น แต่หากนโยบายของจังหวัดไม่ยอมรับและสนใจแม้ว่าพื้นที่จะเกิดค่ามลพิษสูงเกินขนาด ด้วยเพราะไม่สามารถเอามาอ้างอิง ก็จะส่งผลต่อความใส่ใจดูแลผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบนอกตามไปด้วย
.
การยกระดับมาตรฐานคุณภาพฝุ่นละออง จึงควรต้องควบคู่กับการขยายเครือข่ายเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรพร้อมกันไปด้วย หากว่ารัฐยังไม่สามารถทำได้ ควรจะพิจารณาใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กในมิติของการดูแลเอาใจใส่คุ้มครองสุขภาพของประชาชนรอบนอกให้เท่าเทียมกับพื้นที่ซึ่งมีเครื่องวัดฯ ของทางการติดตั้ง
