10 เหตุสำคัญฤดูฝุ่นไฟเชียงใหม่ ปี65

ชุดเหตุการณ์น่าสนใจทั้งสิบเกิดระหว่างช่วงฤดูมลพิษฝุ่นไฟของจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมโดย WEVOสื่ออาสา และ สถานีฝุ่น มอบให้กับ ทสจ.เชียงใหม่ เพื่อใช้ประกอบการถอดบทเรียนกลุ่มย่อย ป่าไม้ อุทยานฯ เหตุการณ์ทั้งสิบสะท้อนปัญหา การบริหารจัดการ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนแนวคิด และมุมมอง เพื่อไปสู่การปรับปรุงยกระดับปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพขึ้นต่อไป

ตัวแทนสถานีฝุ่นได้รับเชิญเป็นผู้ดำเนินวงถอดบทเรียนการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันประจำปี จ.เชียงใหม่ เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ได้รวบรวมเหตุการณ์น่าสนใจระหว่างวิกฤตมลพิษ เพื่อให้กลุ่มย่อยด้านป่าไม้ อุทยานฯ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอมุมมองร่วมกัน

.

เหตุการณ์ที่ 1 ไฟป่าแม่ออน

กรณีไฟป่าแม่ออน เกิดในเขตภูเขาป่าสงวนสันกำแพงแม่ออน เป็นไฟกลุ่มแรกๆ ของจังหวัด จุดน่าสนใจคือ เกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุด เมื่อมีการดับแล้ว ยังมีคนจุดต่อ ในระหว่างนั้น อ.แม่ออน ไม่มีนายอำเภอประจำ เพราะอยู่ระหว่างการเดินทางรับตำแหน่ง มีข้อเสนอในวงประชุมว่า ไฟที่เกิดในเขตนี้เป็นไฟที่ต่อเนื่องระหว่างสามอำเภอ ดอยสะเก็ด สันกำแพง แม่ออน มีหน่วยปฏิบัติหลายหน่วย น่าจะมีความร่วมมือข้ามอำเภอ และทำเป็นเขตพื้นที่จัดการเฉพาะ เป็น KPI ร่วมระหว่างหน่วยต่างๆ ในปีต่อไป

.

เหตุการณ์ที่ 2 ไฟบริหารชิงเผาหลังเขื่อนแม่กวง

กรณีไฟชิงเผาเขื่อนแม่กวง

เป็นกรณีศึกษาที่มีประชาชนถ่ายภาพไฟไหม้ป่า นำไปลงในโซเชี่ยลมีเดีย ปรากฏว่า ไฟดังกล่าวเป็นไฟชิงเผา ได้รับอนุมัติบริหารจัดการ และสามารถดำเนินการดับแล้วเสร็จเรียบร้อยใน 1 วันตามหลักทุกประการ

ปัญหาคือ การประชาสัมพันธ์ ที่ต้องยกระดับขยายผลให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

ปัญหาที่พบต่อไปก็คือ ประชาชนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการชิงเผา ซึ่งต้องมีกระบวนการสื่อสารอธิบายความจำเป็นให้ทราบ

.

เหตุการณ์ที่ 3 บริหารเชื้อเพลิงแม่แจ่ม

ค่าฝุ่นแม่แจ่มสูงมาก

ค่ามลพิษอากาศของแม่แจ่มสูงกว่าสถานีอื่นๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของไร่เกษตรชาวบ้านพร้อมกันจำนวนมาก 

จุดที่นำเสนอในวงประชุมก็คือ การเผาภาคเกษตรที่นั่นมีจำนวนมากพร้อมกัน ทำให้มลพิษดันขึ้นสูงกว่าทุกสถานีในจังหวัด ไม่เพียงเท่านั้นยังไม่ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ให้จัดการให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน เกิดมีไฟกลางคืนจำนวนมาก แสดงว่า ไม่ได้บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมบอกว่า มีการตั้งใจจุดเย้ยรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไปติดตามดูปัญหาที่นั่น

.

เหตุการณ์ที่ 4 ไฟป่าสะเมิง

ไฟป่าสะเมิง เป็นไฟตั้งใจจุดพร้อมกันหลายจุด เป็นสัญญาณให้เกิดการเผาพร้อมๆ กันในเขตตำบลสะเมิงใต้ ลามไปตำบลอื่นใกล้เคียง ชนิดที่หน่วยดับไฟคล้อยหลังก็จุดต่ออีก น่าสนใจก็คือ วันเวลาที่จุดเมื่อ 28 มีนาคม ตรงกับวันที่เคยมีไฟป่าไหม้ใหญ่ใกล้เคียงกัน 

ที่ประชุมให้จับต่อวันที่ 28 มีนาคมของปีถัดไปว่า จะมีไฟลักษณะนี้นัดหมายจุดขึ้นอีกหรือไม่ 

ชุดไฟสะเมิง ที่ลามต่อเนื่องหลายวันเป็นไฟตั้งใจจุด

.

เหตุการณ์ที่ 5 ไฟลอบเผา ที่ป่าสงวนสันทราย

ไฟลอบเผาป่าสงวนสันทราย

กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา เพราะเป็นเขตไฟไหม้ใหญ่ลามทุกปี เป็นพื้สที่ภูเขาต่อเนื่อง 3 อำเภอ ดอยสะเก็ด สันทราย แม่แตง และมีพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่าง อปท.ต่างๆ จำนวนมาก เคยมีผู้นำหมู่บ้านเสียชีวิตระหว่างดับไฟ

ปีนี้มีการส่งเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟจากส่วนกลาง 2 ชุดเข้าไปกินนอนในพื้นที่แต่ก็ยังมีการลอบจุด 

ที่น่าสนใจมากคือ การยิงพลุเข้าไปในป่าลึก นอกทางสัญจร 

ที่ประชุมเห็นว่า ควรต้องขีดเส้นพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปฏิบัติการร่วมกันหลายหน่วย ให้เป็น KPI ร่วม และประสานงานใกล้ชิดชุมชน ในการแก้ปัญหา

.

เหตุการณ์ที่ 6 ไฟบ้านปง ดับก็จุดใหม่

ไฟบ้านปง อ.หางดง ปลายกุมภาพันธ์ มีการลอบเผาในเขต ต.บ้านปง ซึ่งต่อเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพด้านทิศใต้ เมื่อชาวบ้านช่วยกันดับ ก็มีการไปจุดไฟอีก 

เขตดังกล่าวเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน เพราะใกล้ดอยสุเทพ ในปีนี้มีไฟเกิดขึ้นหลายครั้งแต่ไม่ทันเป็น hotspot ดาวเทียมเพราะไปไล่ดับได้ก่อน พื้นที่นั้นมีความขัดแย้งมาก่อน ระหว่างผู้นำชุมชน อปท. เก่าใหม่ 

เป็นไฟตั้งใจจุด และ ต้องใส่ใจใกลชิด เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเดิมเป็นพื้นฐานมาก่อน 

ที่ประชุมยังกล่าวเรื่องการสื่อสารปัญหาในโซเชี่ยลมีเดีย มีประชาชนถ่ายภาพ ซึ่งบางครั้งบรรยายไม่ตรงกับความจริง มีการเสนอว่า ควรมีโฆษกเหตุการณ์ เพื่อความกระจ่างทันเหตุการณ์

.

เหตุการณ์ที่ 7 ไฟป่าอมก๋อย

ไฟอมก๋อยปีนี้ อมก๋อยมีไฟน้อยมาก ต่างจากปีก่อนหน้าที่เป็นเขตไฟใหญ่ สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการร่วมกับชุมชน มีแผนชุมชน รัฐเข้าใจประชาชนมากขึ้น ในส่วนไฟในป่า มีการกระชับพื้นที่กลุ่มล่าสัตว์ ซึ่งเป็นเหตุไฟในป่า เมื่อสอดส่องต้นตอกลุ่มนี้ ไฟจึงน้อยลง

.

เหตุการณ์ที่ 8 ชาวบ้านกังขา

ไฟโซเชี่ยลมีเดียถามหา

นี่เป็นกรณีศึกษาที่ประชาชนถ่ายรูปควันไฟระหว่างเส้นทางมาจากเชียงราย โพสต์ในสื่อโซเชี่ยลมีเดีย แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นไฟป่าไม้ชิงเผาบริหารเชื้อเพลิง ซึ่งได้ประกาศแจ้งและรายงานในกล่มไลน์อำเภอ แต่ไม่ได้แพร่หลายนอกกลุ่มออกไป

ที่ประชุมมองว่าเป็นจุดอ่อนของการประชาสัมพันธ์ ที่ต้องปรับแก้ให้สังคมทราบก่อน

.

เหตุการณ์ที่ 9 ข่าวออกสื่อ

ข่าวออกสื่อ

เป็นตัวอย่างความผิดพลาด ในการสื่อสารกับสื่อมวลชน มีการส่งข่าวภาพถ่ายทางอากาศคนอยู่กับกองไม้กำลังจะเผา ที่จริงเป็นพื้นที่ขออนุญาตบริหารเชื้อเพลิงแล้ว และเป็นพื้นที่เผายังไม่เสร็จ ยังค้างกองไม้ที่จะเผาซ้ำ เมื่อถ่ายภาพและสื่อสารออกไปทำให้เข้าใจผิดว่า เป็นผู้ร้ายเผาป่า

เป็นอีกบทเรียนของการสื่อสาร

.

เหตุการณ์ที่ 10 FireD อนุมัติ แต่ไร้รายงานตอบกลับ

ผู้ใช้ไม่กรอกแอพพลิเคชั่น

ปีนี้ มอบอำนาจให้แต่ละอำเภอกรอกและอนุญาตการบริหารเชื้อเพลิง ผ่านแอพพลิเคชั่น FireD แต่มีปัญหาที่เมื่อได้รับอนุญาตไปแล้ว ปฏิบัติการแล้ว ไม่ได้กลับมากรอกว่าดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้ตัวเลขไม่อัพเดท

#เพื่อลมหายใจภาคเหนือ

WEVO NEWS

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เห็ดปลอดเผา ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ร่วมกันช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก้อโมเดล พลัส+ ภาคีเครือข่ายแม่ปิงตอนใต้ ความพยายามดึงความร่วมมือหลายฝ่ายเข้าไปร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟ อช.แม่ปิง ทั้งด้านอาชีพเศรษฐกิจปลอดเผา และด้านท่องเที่ยว เปลี่ยนจาก …

อ่านเพิ่มเติม →

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้

สิ่งที่แต่ละจังหวัดต้องเปลี่ยน 2567 ทำแบบเดิมไม่ได้ บรรยายโดย บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ

อ่านเพิ่มเติม →